การเต้นรำจังหวะวอลท์ซมีต้นแบบมาจากจังหวะบอสตัน วอลท์ซ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมนีและออสเตรีย แพร่หลายไปยังยุโรปและทั่วโลกในเวลาต่อมา เดิมทีนั้นเป็นการเต้นรำพื้นเมืองที่หญิงชายเกาะแขนกันไว้พร้อมทั้งก้าวเท้าไปด้านข้างแล้วหมุนตัวด้วยความรวดเร็ว การคล้องแขนกันก็จะช่วยในการทรงตัวไม่ให้ล้ม การเต้นวอลท์ซนี้จะเป็นการเต้นที่เชื่องช้า สง่างาม นิ่มนวล คู่เต้นทั้งสองต้องใกล้ชิดกัน ฝ่ายชายใช้แขนโอบที่ไปที่เอวฝ่ายหญิง ส่วนฝ่ายหญิงใช้มือแตะที่บ่าฝ่ายชาย ซึ่งเกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ในระยะแรกว่าไม่เหมาะสม แต่หลังจากนั้นก็ค่อยรับได้และมีความนิยมไปทั่ว เพราะเป็นการเต้นลีลาศในแบบที่เรียกได้ว่าค่อนข้างง่ายที่สุดในการฝึกฝนเมื่อเทียบกับจังหวะชนิดอื่น ๆ
ลักษณะท่าทางอันเป็นเอกลักษณ์ของวอลท์ซนั้น จะมีการเคลื่อนไหวคล้ายลูกตุ้มนาฬิกา มีการโยกตัวหรือออกลีลาที่อิสระ มีการสวิงโยกย้ายที่นุ่มนวล จะส่งผลให้ผู้เต้นนั้นสนุกและเพลิดเพลินไปกับการเต้น ดนตรีวอลท์ซส่วนมากจะเป็นดนตรีหวาน โรแมนติก ละเอียดอ่อน ทุ้มนุ่มเปรียบได้กับความละมุนของสตรีเพศ
ดนตรีวอลท์ซสามารถจับจังหวะได้เป็นแบบ 3/4 เสียงเคาะจะเป็นแบบ พั่ม แท้ก แท้ก เท่ากันต่อเนื่องกันตลอดเพลง เสียงพั่มจะตรงกับเบส เสียงแท้กจะตรงกับกลอง การฝึกเต้นนั้นควรหัดฟังจังหวะให้ออกหรืออาจใช้วิธีการนับหนึ่งสองสามตามจังหวะก็ได้ การฝึกเต้นนั้นควรฝึกที่สเต็ปพื้นฐานเป็นอันดับแรกคือการก้าวเท้าเพื่อให้คุ้นชินกับจังหวะและการวางเท้า เมื่อคุ้นชินแล้วก็จะสามารถออกสเต็ปได้สวยขึ้น มีการยกตัวให้พลิ้วไปตามจังหวะทำให้ดูงดงามขึ้น
การฝึกเต้นจังหวะวอลท์ซนั้นมีหลายรูปแบบ แต่ควรเริ่มฝึกจากจังหวะเบสิคก่อนซึ่งมีดังนี้
– ฝ่ายชาย ก้าวเท้าซ้ายทิ้งน้ำหนักตัวไปที่เท้าซ้าย ก้าวเท้าขวาทิ้งน้ำหนักตัวไปที่เท้าขวา จากนั้นก้าวเท้าซ้ายขึ้นไปชิดเท้าขวา ทิ้งน้ำหนักตัวลงที่เท้าซ้าย
– ฝ่ายหญิง ถอยหลังเท้าขวาทิ้งน้ำหนักตัวไปที่เท้าขวา ถอยหลังเท้าซ้ายทิ้งน้ำหนักตัวไปที่เท้าซ้าย ถอยเท้าขวาไปชิดเท้าซ้าย ทิ้งน้ำหนักตัวให้ตกลงที่เท้าขวา
การเต้นแบบวอลท์ซได้แยกย่อยเป็นท่าต่าง ๆ ไปอีกที่เป็นท่าพื้นฐาน ดังนี้
– โคลสเช้นจ์ (Closed Change)
– เนเชอรัลเทิร์น (Natural Turn)
– รีเวิร์สเทิร์น (Reverse Turn)
– เนเชอรัล สปิน เทิร์น (Natural Spin Turn)
– วิสค์ (Whisk)
– ซินโคเพทเชสเซ่ (Syncopated Chasse)
– แบควิสค์ (Back Whisk)
– วิง (Wing)
– เอ้าท์ไซด์เช้นจ์ (Outside Change)
– รีเวิร์สคอร์เต้ (Reverse Corte)